วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

เพลงผีบอก น้ำตาแสงใต้

...


เพลงน้ำตาแสงไต้ เป็นเพลงประกอบละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์"
 ที่จัดแสดงที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ โดยคณะศิวารมณ์ ประพันธ์ทำนองโดยสง่า อารัมภีร โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง
เขมรไทรโยค และเพลงลาวครวญ ผู้ขับร้องคนแรกคือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์
คำร้อง: มารุต - เนรมิตร
ทำนอง: สง่า อารัมภีร

นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ
ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย
น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสว
แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้ งามจับตา
นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่า
ยามเมื่อแสงไฟส่องมา แวววาวชวนชื่นชม
น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม
ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล


http://bit.ly/2ws5GdZ

ที่มาของเพลง

"ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำว่า วันนั้นในราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘
ศิวารมณ์กำลังซ้อมละครเรื่อง พันท้ายนรสิงห์อยู่ที่ห้องเล็ก ศาลา
เฉลิมกรุง ดูเหมือนจะเข้าโปรแกรมวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ซ้อมกันอย่างหนัก
เพราะเป็นสมัยที่เริ่มงานใหม่ๆ ตอนนั้นข้าพเจ้ามีหน้าที่ดีดเปียโน
ให้นาฏศิลป์เขาซ้อมและต่อเพลงให้นักร้องเท่านั้น

ผู้ที่แต่งเพลงให้ศิวารมณ์สมัยนั้นคือ ประกิจ วาทยกร และ โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ข้าพเจ้าเป็นนักดนตรีใหม่ๆ ยังไม่ถึงปี สุรสิทธิ์ , จอก , สมพงษ์ และทุกๆ คนมาซ้อมละครกันตั้งแต่เย็นส่วน เนรมิต , มารุต สมัยโน้นเข้าคู่กันคร่ำเครียดกับบทและวางคาแร็คเตอร์ตัวละคร นาฏศิลป์ซ้อมกัน เต้นกัน นักร้องก็ร้องเพลงกัน

เหลือเวลา ๕ วันละครจะเริ่มแสดงแล้ว เพลงเอกของเรื่องคือ น้ำตาแสงไต้ ทำนองยังไม่เสร็จ คุณประกิจและคุณโพธิ์ แต่งส่งมาคนละเพลงสองเพลง แต่ยังไม่เป็นที่ไม่พอใจแก่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับ ทั้งเจ้าของเรื่องและผู้กำกับต้องการให้เพลงมีสำเนียงเป็นไทยแท้ มีรสและวิญญาณไปในทาง หวานเย็นและเศร้า

เย็นนั้นเมื่อเลิกซ้อมแล้ว ข้าพเจ้าพลอยอึดอัดไปกับเขาด้วย ข้าพเจ้าลงมายืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่หน้าเฉลิมกรุง ไม่รู้จะไปไหนดี ได้ยินเสียงเรียก หง่า หง่า คุณทองอิน บุณยเสนา ถามว่า ราบรื่นเรียบร้อยหรือไฉนข้าพเจ้าอ่ยถึงเพลง น้ำตาแสงไต้ ที่ยังแต่งกันไม่เสร็จ พี่อินฟังแล้วพูดว่า "เพลงไทยนั้นมีเยอะ แต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้าที่หง่าว่ามันมีน้อย อั๊วชอบมาก และรู้สึกว่าหวานเย็นเศร้ามีแต่เขมรไทรโยคและลาวครวญเท่านั้น" คุยกันสักพักข้าพเจ้ารู้สึกง่วงนอนปุ๊บหลับปั๊บจะหลับไปนานเท่าไรไม่รู้

ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจมาก ที่ใครมาเล่นเปียโนที่ห้องเล็กก่อนข้าพเจ้าปกติ ๘.๐๐ น. กว่าๆ ข้าพเจ้าเห็นคนอยู่ ๔ คน ชาย ๓ หญิง ๑ แต่งกายแปลกมาก ชายแต่งกายเหมือนนักรบโบราณ เขาถอดหมวกวางไว้บนเปียโน คนเล่นผิวค่อนข้างขาว หน้าคมคาย อีกคนหนึ่งผิวคล้ำนั่งอยู่ทางขวาของเปียโน คนที่ ๓ อายุมากกว่าสองคนแรกผมหงอกประปราย ท่าทางเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หน้าตาอิ่มเอิบ ส่วนผู้หญิง นั้นสวยเหลือเกิน นุ่งผ้าจีบพกแต่งกายโบราณนุ่งผ้าจีบพก ห่มผ้าแถบสีแดงสด ผิวนวลปล่อยผมปรกบ่า กำลังยืนเอามือเท้าเปียโนอยู่ด้านซ้าย

ข้าพเจ้าเปิดประตูเข้าไป เขาไม่สนใจข้าพเจ้าเลย จนข้าพเจ้าเดินเข้าไปใกล้จะเข้าพูดก็ไม่รู้จัก เขาแต่งตัวแปลก เลยนั่งมองดูเขาและฟังเพลงที่ดีดนั้น คนเล่นเปียโนเก่งมาก เขาเล่นจากความรู้สึกจริงๆ ตาเขาลอยคล้ายฝันมองไปตรงหน้า บางทีมองหน้าผู้หญิง เธอยิ้มรับน่ารักเหลือเกิน ข้าพเจ้าฟังเพลินมองเพลิน

สักครู่ข้าพเจ้าก็สะดุ้งเพราะเสียงห้าวต่ำอย่างมีอำนาจของผู้สูงอายุพูดขึ้นว่า " ไหนเทพ เธอลองเล่น เขมรไทรโยคซิ " คนที่เล่นเปียโนผงกศีรษะรับ พร้อมกับเปลี่ยนเพลงมาเป็นเขมรไทรโยค เขาเล่นด้วยความรู้สึก เสียงประสานประหลาดแต่ทว่านุ่มนวลฟังแล้วทำให้คิดและมองเห็นภาพไปด้วยความรู้สึกหวานชื่นเพลินฟังจนเพลงจบเมื่อไรไม่รู้ เพลงที่เล่นนั้นเพราะเหลือเกิน

พลันเสียงผู้สูงอายุพูดขึ้นว่า " ธิดาจ๋า เธอจะไม่ลองฝีมือดูรึ " สาวสวยคนนั้นเดินไปนั่งที่เปียโนบรรเลงเพลงเป็นเพลงหวานเศร้าสำเนียงลาว ลาวครวญ อันหวานเศร้า ฝีมือของเธออยู่ในขั้นเลิศ ข้าพเจ้านั่งน้ำตาคลอคิดไปถึงความหลังคิดเพลินจนเพลงจบไม่รู้ตัว

เสียงห้าวต่ำๆ ดังขึ้นอีกว่า อมรถ้าเราเอา วิญญาณ ของเพลงสองเพลงนี้มารวมกันเข้า คงจะเพราะอย่างหาที่ติไม่ได้เชียวนะ" ข้าพเจ้าเห็นคนผิวคล้ำที่นั่งข้างขวาของเปียโนก้มศีรษะรับพร้อมกับพูดว่า กระผมเห็นด้วยคงจะไพเราะอย่างยิ่ง หญิงสาวลุกขึ้นจากเปียโนพลางหันหน้าไปพูดกัยคนผิวคล้ำว่า ขอเชิญคุณครูค่ะ ขอเชิญคุณครูสวมวิญญาณของเพลงทั้งสอง ให้ศิษย์ได้ฟังเพื่อเป็นขวัญโสตและขวัญชีวิตของศิษย์ทั้งสอง ท่านที่รัก

เสียงที่ลอยมาจากเปียโนนั้นสำเนียงไทยแท้มี รสหวานเย็นเศร้า ครูอมรได้รวมวิญญาณของ เขมรไทรโยค และ ลาวครวญ ได้สนิทแนบสำเนียงและ วิญญาณถอดออกมาจากเพลงสองเพลงนี้อย่างครบถ้วนโดยที่เพลงเดิมไม่ได้เสียหายอะไรแม้แต่น้อย ดุจสองวิญญาณเก่าเคล้ากัน จนเกิดวิญญาณใหม่ที่สวยงามขึ้นอีกวิญญาณหนึ่งข้าพเจ้าฟังเพลินจนสะดุ้ง เมื่อมีมือหนักๆ มาเขย่าจนรู้สึกตัวตื่นจากภวังค์

บ่ายๆ สามโมงวันนั้น เมื่อนาฏศิลป์และละครแยกย้ายกันกลับ. บนห้องเล็กเหลือข้าพเจ้า , เนรมิต, มารุต, สุรสิทธิ์ เนรมิตและมารุตบ่นถึงเพลง น้ำตาแสงไต้ ว่าทำนองที่คุณโพธิ์และคุณประกิจส่งมายังใช้ไม่ได้ เหลือเวลาอีก ๓ วันละครจะแสดงแล้วเดี๋ยวไม่ทัน ข้าพเจ้านั่งฟังสักครู่หันมาเล่นเปียโน

ท่านที่รัก ความรู้สึกบอกไม่ถูกนิ้วมือข้าพเจ้าบรรเลงไปตามอารมณ์ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร เคลิ้มๆ บังไงพิกล เนรมิตถามว่า หง่า นั่นเพลงอะไร ข้าพเจ้าสะดุ้งพร้อมกับนึกขึ้นได้ และจำทำนองได้ทันทีว่าเป็นเพลงที่ครูอมรดีด ข้าพเจ้าหันไปถามเนรมิตว่า เพราะหรือฮะ เนรมิตพยักหน้าบอกให้เล่นใหม่ ข้าพเจ้าบนนเลงอีกหนึ่งเที่ยว ทั้งเนรมิตและมารุตพูดขึ้นว่า นี่แหละ น้ำตาแสงไต้ ข้าพเจ้าดีใจรีบจดโน๊ต และประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้น

มารุตขึ้น นวลเจ้าพี่เอย
เนรมิตต่อ คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ

แล้วช่วยกันต่อ ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย
พอจบประโยคแรก สุรสิทธิ์ร้องเกลาทันที ร่วมกันสร้างจบคำร้องในราว ๑๐ นาทีเท่านั้นเอง

สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดง เมื่อทำนองเพลง. น้ำตาแสงไต้พลิ้วขึ้นคนร้องไห้กันทั้งโรง แม้พันท้ายนรสิงห์จะสร้างเป็นภาพยนตร์ยังใช้เพลง น้ำตาแสงไต้เป็นเพลงเอกอยู่"
คัดลอกมาจากหนังสือ เพลงผีบอก รวมเรื่องผีและที่มาของเพลงน้ำตาแสงไต้ โดย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงปี ๒๕๓๑ สง่า อารัมภีร์

ไม่มีความคิดเห็น: