วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สุรพล โทณะวณิก

....


ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร : ชีวิตต้องสู้ของสุรพล โทณวนิก นักแต่งเพลงศิลปินแห่งชาติ

นานปีหลังจากนั้น เขาบอกว่า โลกเราเป็นโรงละครฉากหนึ่งให้มนุษย์เกิดมาแสดงบทบาทละครของแต่ละคน

สุรพลเป็นเด็กจรจัดอาศัยอยู่ที่ใต้เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่หลายปี เขาเติบโตในกองขยะ

สุรพลเป็นลูกของท่านขุน แม่เป็นเมียน้อยคนที่สาม เมื่อยังเด็กอาศัยอยู่กับยาย จนอายุหกขวบไปอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงที่กรุงเทพฯ เมื่อแม่กับพ่อเลี้ยงถึงแก่กรรม ก็หนีออกจากบ้านใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อนอยู่แถวสะพานพระพุทธยอดฟ้าและวัดต่าง ๆ แถวนั้น

ที่เชิงสะพานพุทธมีสามล้อรับจ้างข้ามไปมา แต่สะพานชันเกินกว่าคนถีบสามล้อจะพารถขึ้นไปได้ด้วยแรงสองขา ต้องอาศัยเด็ก ๆ แถวนั้นช่วยเข็นให้ คนขี่สามล้อจะโยนเหรียญห้าสตางค์ สิบสตางค์ ให้เด็กเข็นรถ มันเป็นค่าข้าวของเขา

สุรพลใช้ริมถนนเป็นบ้าน นอนบนทางเท้าบ้าง ในดงขยะบ้าง บางครั้งก็นอนในหัวเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งจอดที่คลองตลาดบ้านสมเด็จฯ ในหน้าหนาวอากาศเย็นจัด เขาต้องขุดทรายลึก ๆ แล้วนอนในหลุมทรายนั้น บางครั้งก็มีสุนัขมานอนด้วย เด็กชายนอนกอดสุนัขเป็นเพื่อน หลายปีหลังเขาบอกว่า ถ้าผมไม่ได้หมา ผมก็ตายไปแล้ว หมามันก็รักผม กลางคืนหน้าหนาว กอดกับมันอุ่นกว่ากอดกับคนอีก

สุรพลอายุแปดขวบเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ คืนหนึ่งด้วยความเหนื่อยล้าเกินกว่าจะหาที่นอนที่อื่น เขาก็นอนในโลงศพในโกดังผีวัดพิชัยญาตินั่นเอง เขาหลับเป็นตายเพราะความเพลีย ตื่นขึ้นมาเมื่อแสงแดดแยงลงมา เขานึกว่าตกนรกเพราะเจ็บไปทั้งแผ่นหลัง เขาถูกฝูงมดแดงกัดตอนนอน

เขามองขึ้นไปเบื้องบน แสงแดดส่องทะลุหลังคาสังกะสีเข้ามา ทันใดนั้นเขาก็ได้คิด ภายในที่มืดมิดอย่างโกดังผี แสงสว่างยังสาดเข้ามาได้ ชีวิตมืดได้ก็ต้องสว่างได้


ทุกเช้าสุรพลเห็นเหล่านักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนบ้านสมเด็จฯเดินไปโรงเรียน เด็กเหล่านั้นแต่งเครื่องแบบนักเรียนถือกระเป๋าดูโก้มาก เขาอยากเป็นเด็กนักเรียนอย่างนั้นบ้าง เขาอยากอ่านหนังสือออก แต่จะเข้าโรงเรียนได้อย่างไร ในเมื่อตัวเขาเองต้องหากินต่อชีวิตไปวัน ๆ เขาคงไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน

แล้วเขาก็เริ่มเรียนหนังสือด้วยตัวเองโดยวิธีของเขาเอง เขาถามเด็กนักเรียนที่ผ่านมาโดยชี้ที่ป้ายต่าง ๆ เช่น ป้าย ถนนจักรเพชรถามนักเรียนว่า ป้ายนี้อ่านว่าอะไร?” เมื่อนักเรียนบอก เขาก็จดจำมันทั้งดุ้นว่า ตัวหนังสือหน้าตาอย่างนี้อ่านว่า ถนนจักรเพชร

สุรพลจดจำคำต่าง ๆ โดยไม่รู้จักพยัญชนะสักตัวเดียว คำศัพท์หน้าตาแบบนี้ออกเสียงว่า ช้าง คำหน้าตาอย่างนั้นออกเสียงว่า หนู ต่อมาก็เริ่มแยกแยะตัวพยัญชนะออก ตัว ก มีหน้าตาไม่มีหัวแบบนี้ ถ้าหัวอยู่ในคือ ถ ถ้าหัวหันออกคือ ภ จำไปทีละพยัญชนะ ทีละคำ เป็นตัว ๆ โดยไม่รู้วิธีประสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์

นักเรียนในโรงเรียนแถวนั้นเห็นสุรพลอยากเรียนจริง ๆ ก็ยกตำราแบบเรียนเร็วให้เขาใช้ฝึกฝน เขาพยายามอ่านไปทีละตัวเช่นนี้ราวสองปีกว่าก็เริ่มอ่านได้ หลังจากนั้นเขาก็อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า เก็บเศษหนังสือพิมพ์มาอ่าน อ่านป้ายร้านค้าต่าง ๆ 

สุรพลชอบถามคนเดินผ่านทางว่า คำนี้อ่านว่าอะไร?” แต่เขาต้องประหลาดใจที่พบว่าคนจำนวนมากรอบตัวเขาไม่รู้หนังสือ

วันหนึ่งสุรพลพบคนแก่คนหนึ่งนั่งอ่านหนังสือ ชายคนนั้นใช้แว่นขยายอ่านอย่างลำบาก สุรพลบอกคนแก่ว่า เขาจะรับจ้างอ่านหนังสือให้ฟังชั่วโมงละสตางค์เดียว โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าคำไหนผมไม่รู้ คุณลุงต้องช่วยสอนผมด้วย

ชายแก่ตกลง ด้วยวิธีนี้เขาจึงได้อ่านหนังสือมากมาย เช่น รามเกียรติ์, พระอภัยมณี, มหาภารตะยุทธ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ฯลฯ


ช่วงน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2485 สุรพลหารายได้พิเศษรับจ้างพายเรือส่งผู้คนและขายของ หลังจากนั้นเขาก็ติดตามพระครูคุณรสศิริขันธ์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมาจำพรรษาที่วัดมหาพฤฒาราม ไปบวชเณรที่วัดชุมพลสุทธาวาส แล้วเข้าเรียนต่อที่สุรินทร์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ก่อนสิ้นสงครามโลก เขากลับมากรุงเทพฯอาศัยอยู่ที่วัดมหาพฤฒาราม ช่วยแม่ค้าขายขนมและน้ำแข็งไสใส่น้ำหวาน มีกินบ้างอดบ้าง ทำงานทุกชนิดโดยไม่เกี่ยงงาน จนในที่สุดก็ได้งานที่โรงละครย่านเวิ้งนาครเขษม กวาดโรงละคร ล้างห้องส้วม

แต่งานต่ำต้อยก็มี แสงแดดส่องทะลุหลังคาสังกะสีเข้ามาชีวิตในโรงละครเปิดโอกาสให้เขารู้จักนักแต่งเพลง นักประพันธ์ และดาราละครหลายคน เขาเรียนทุกอย่างจากทุกคนที่เขาพบ

เป็นอีกครั้งที่เขาเริ่มเรียนสิ่งที่เขาไม่รู้ ครั้งนี้คือวิชาการประพันธ์ เรียนจากนักประพันธ์ รพีพร กับอิงอร รพีพรเขียนหนังสือได้หลายด้าน ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร และยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ ส่วนอิงอรเป็นนักประพันธ์เจ้าของฉายาปากกาจุ่มน้ำผึ้งมีผลงานมากมาย

สุรพลเริ่มเขียนหนังสือและฝึกฝนจนงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น แสนสุขรายสัปดาห์, เพลินจิตรายวัน, ชาติไทยวันอาทิตย์, ชาวกรุง ฯลฯ แต่งานเขียนหนังสือไม่ใช่ปลายทางความฝันของเขา เขาค้นพบว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาคือนักแต่งเพลง

เขาชอบฟังเพลงต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์ว่าแต่ละเพลงนั้นดีอย่างไร อะไรทำให้มันไพเราะ มันมีจุดเด่นตรงไหน ทำไมมันจึงติดหู ทำไมมันจึงติดคาใจได้ เขาพบว่าเพลงที่ประสบความสำเร็จคือเพลงที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกเข้าไปในเพลง

เขาเรียนจากคนรอบตัวแบบครูพักลักจำ ครูของเขามีนับไม่ถ้วน

วันหนึ่งเมื่ออายุยี่สิบเอ็ด เขาได้ยินว่าละครที่กำลังจะแสดงยังขาดคำร้อง เขาจึงขอแต่งเพลงนั้น มันกลายเป็นเพลง ลาแล้วแก้วตา เป็นเพลงแรกในชีวิต เปิดประตูสู่วงการเพลงโดยการสนับสนุนของครูไสล ไกรเลิศ

สุรพลแต่งเพลงทิ้งไว้จำนวนมาก วันหนึ่งขณะยืนรอรถราง เสียงเพลงเพลงหนึ่งลอยมากระทบโสต เพลงนั้นอ่อนหวานไพเราะ คนที่ยืนข้างเขาเอ่ยว่า เพลงนี้แต่งดีเหลือเกิน

มันเป็นเพลงที่เขาแต่งเอง มีคนนำเพลงที่เขาแต่งไว้ไปใช้และรับเครดิต เมื่อนั้นเขาจึงรู้ว่าเขาควรเดินไปตามทางของเขาเอง เขาควรยืนหยัดเป็นนักแต่งเพลงด้วยตนเองได้แล้ว

เมื่อความมุ่งมั่นปรากฏ ชะตาก็ถูกกำหนดด้วยตัวเอง ประสบการณ์ชีวิตอันหนักหน่วงในวัยเด็กกลายเป็นปุ๋ยที่เพลงของเขางอกงาม อารมณ์ความรู้สึกทุกรูปแบบที่เขาประสบมาโดยตรงเป็นฐานให้ตัวโน้ตแต่ละตัวเต้นระบำ

สุรพลประพันธ์เพลงตั้งแต่หนุ่มจนแก่ไม่เคยหยุด เพลงของเขากลายเป็นที่คุ้นหูของประชาชน นักร้องจำนวนมากขับร้องเพลงที่เขาแต่ง เช่น ลาแล้วแก้วตา, ในโลกแห่งความฝัน, ใครหนอ, ฟ้ามิอาจกั้น, ยามรัก, แม่เนื้ออุ่น, ลมรัก, อยากลืมกลับจำ นับไม่ถ้วน

เขาไม่เคยกลัวความไม่แน่นอนของอนาคต เขาผ่านจุดต่ำสุดในชีวิตมาแล้ว ที่เหลือคือโบนัส


นานปีหลังจากนั้น เขาบอกว่า โลกเราเป็นโรงละครฉากหนึ่งให้มนุษย์เกิดมาแสดงบทบาทละครของแต่ละคน

บทบาทของแต่ละคนถูกกำหนดโดยตัวคนคนนั้นเอง และการเล่นบทนั้นได้ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับความพยายามดิ้นรนสู่ความฝัน ไม่งอมืองอเท้ารอรับชะตากรรมที่ชาติกำเนิดกำหนด เขาแสดงให้โลกเห็นความแตกต่างระหว่างคนรักสนุกกับคนรักดี ระหว่างปลาที่ว่ายตามกระแสน้ำกับปลาที่ว่ายทวนกระแสน้ำ มีแต่ปลาที่ว่ายทวนน้ำจึงสามารถกำหนดเกมชีวิตเองได้ โดยมีความรู้คือครีบ ความพยายามคือหางรวมกันเป็นแรงผลักให้ว่ายไปถึงปลายฝัน

ชีวิตคือการเรียนรู้ เรียนสิ่งที่ตนไม่รู้ เรียนรู้ให้ไกลกว่าสิ่งที่รู้แล้ว ไม่หวาดหวั่นต่อความมืด เพราะในที่มืดมิดที่สุดก็สามารถมีแสงสว่างสาดเข้ามาได้

หมายเหตุ : สุรพล โทณะวณิก ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2507 จากเพลง ใครหนอ, ในโลกแห่งความฝัน, เพชรตัดเพชร ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี พ.ศ. 2526 จากเพลง ลมรัก, อยากลืมกลับจำ และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2540

.………………...

จากหนังสือ ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว

  วินทร์ เลียววาริณ


ความในใจต่อสุวลี
ผู้พลิกชีวิตด้วยบทเพลง


 เรื่องต่อ เพลง ใครหนอ


ครูสุรพล โทณะวณิก เขียน ถึง สวลี ผกาพันธ์ และ เพลงใครหนอ เอาไว้ ใน ขอฝากหัวใจไว้ในตัวหนังสือแด่คุณ จาก หนังสือ คอนเสิร์ตวันดวลเพลง ชาลี อินทรวิจิตร สุรพล โทณะวณิก ว่า “...สวลี ผกาพันธุ์ ผมเป็นตัวประกอบ เป็นเด็กลูกมือคนเขียนฉาก เป็นเด็กยกฉาก เด็กขายสูจิบัตร เธอเป็นนางเอกละคร เพิ่งสาวสวยแรกผลิ เป็นนักร้องที่ร้องเสียงดี เทคนิคการร้องดี มีชีวิตชีวา มีคุณภาพ ผู้ชมและผู้ร่วมงานต่างชอบ เธอโด่งดังมากยามนั้น      

        เธอมีเมตตา เคยแบ่งข้าวเย็นที่นายแม่เธอ ทำมาส่งเธอตอนการแสดงรอบบ่ายจบ เป็นอาหารมื้อเย็นของเธอ ยามเธอต้องอยู่หลังโรง เพื่อแสดงรอบค่ำ, เธอแบ่งข้าวให้ผมกิน เป็นเวลาที่ผมอดอยากหิวจัด ผมสำนึกบุญคุณของเธอไม่มีวันลืม, ต่อมาเธอเป็นนักร้องโด่งดัง แผ่นเสียงที่เธอร้องบันทึกเสียงขายดี เพราะความสามารถของเธอ ผมเลยมุมานะที่จะเป็นนักแต่งเพลง และอยากให้เธอร้องเพลงของผม      

        เธอร้องเพลงให้ผมแล้ว เธอมีส่วนอย่างมาก ทำให้ผมโด่งดัง เพราะเธอร้องเพลงให้ผมมากกว่าใคร และทุกครั้งที่ร้องเพลงให้ผม ทราบว่าผมถึงแม้จะเป็นนักแต่งเพลงแล้ว ยังเร่ร่อนไม่มีบ้านอยู่ เวลาไม่มีงานทำ ยังอดๆ อยากๆ เธอยกค่าร้องให้ผม แล้วยังร้องเพลงโฆษณามากมายหลายเพลง ฯลฯ...”      

        “...ผมมาจากข้างถนน เรียนจากเศษกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อน ได้เข้าโรงเรียนนิดเดียว ต้องทุ่มเวลาทั้งหมดเพื่อหาอาหารใส่ท้อง      

        พอเริ่มแต่งเพลง ก็มีงานทำมาตลอดไม่เคยขาดงาน ว่างก็ต้องอ่านหนังสือ เพราะต้องเขียนหนังสือ เลยไม่มีเวลาเรียน ผมบอกว่า บางทีผมฟังเพลงฝรั่งก่อนแต่ง เขาก็เอาไปออกอากาศว่า ผมแต่ง เพลงใครหนอ เอาทำนองมาจากเพลงฝรั่ง ขอโทษครับ เอามาจากเพลงไหน ไม่ทราบ      

        สมัยก่อน ถ้าเอาเพลงต่างชาติมา ผมก็จะแจ้งให้ทราบเสมอว่า เอามาจาก เพลงฝรั่ง หรือ เพลงจีน เรียนให้ทราบตามตรง ผมไม่ทราบชื่อคนแต่ง ผมจะบอกเฉพาะสัญชาติเท่านั้น...”      

        ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช เขียนเอาไว้ ใน นิตยสาร พลอยแกมเพชร ฉบับ ที่ 384 ประจำ งวด 31 มกราคม 2551 ถึง เพลงใครหนอ ไว้อย่างน่าอ่านมาก ว่า “... แต่ ใครหนอ ของ ครูสุรพล โทณะวณิก นั้น ทั้งท่วงทำนองและเนื้อร้อง ราวกับว่า คิดถึงพ่อและแม่ด้วยใจรื่นรมย์ นึกถึงภาพเก่าๆ ที่พ่อ แม่ ปลอบใจ ไม่ให้เศร้าสร้อย      

        ภาพที่ลูกขี่คอ นั้นน่ารัก สดชื่น เดาได้ไกลไปอีกว่า พ่อ แม่ ลูก กำลังเล่นสนุกกัน มีแต่เสียงหัวเราะ และ แม้แต่ เด็กรุ่นใหม่ ก็ยังมีความเข้าใจ หนังสี่จอแต่เด็กรุ่นโทรทัศน์นั้น ยิ่งซาบซึ้ง เพราะเป็นเวลาแห่งจินตนาการ ยิ่งมี พ่อ แม่ ช่างเล่า ช่างสอน เวลาที่จะได้เข้ามุ้งไปดู หนังสี่จอ ก็ทำให้ได้ใกล้ชิดกัน อย่างที่สุด      

        สัญลักษณ์ง่ายๆ ที่ ครูสุรพล โทณะวณิก ใช้ “...เอาโลกมาทำปากกา จะเอานภามาแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึก...”      

        เด็กเล็กๆ รุ่นไหนๆ ก็ใช้มโนภาพร่วมไปได้      

        ใครหนอ... ใครจะนึกว่า ผู้วาดความสุข ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ด้วยตัวโน้ต และ เนื้อร้อง จะไม่มี ทั้งพ่อและแม่ อยู่เคียงใกล้ เหมือนเด็กทั่วไป      

        จากครอบครัวที่แตกแยก ครูสุรพล โทณะวณิก เกือบไม่เคยรู้จักพ่อ และจากประวัติที่ท่านเล่าเอง ครูมีเวลาได้ใกล้ชิดกับแม่ เพียง 3 ปี ในช่วงอายุ 6 ขวบ ถึง 9 ขวบ ก่อนที่แม่จะเสียชีวิตไปด้วยโรคร้าย      

        ผู้เขียน ใครหนอ มีเวลาน้อยนิด ที่จะได้ดู หนังสี่จอ กับแม่ ไม่เคยได้ดูกับพ่อ ไม่เคยมีพ่อหรือแม่คอยปลอบใจ      

        เมื่อต้องร่อนเร่ไปอาศัยวัด หลับนอนใต้สะพาน เมื่อหิวจนแสบท้อง ต้องอาศัยกินข้าวเหลือที่เก็บเอาตามแผงอาหาร      

        แต่เด็กน้อยไร้พ่อแม่ เติบใหญ่ เป็นนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สามารถบรรยาย ความซาบซึ้งในรัก ของบิดามารดา ได้อย่างตรึงใจ คนทั้งชาติ      

        คนที่ “...เอาโลก มาทำปากกา จะเอาน้ำตามาแทนกระดาษ เอาน้ำมหาสมุทรแทนหมึก...ได้อย่างแท้จริง คือ ครูสุรพล โทณะวณิก      

        แต่เราไม่ต้องแหงนหน้า หาคำประกาศในความรักของพ่อแม่ ของ ครูสุรพล โทณะวณิก แต่หลับตา ฟัง ใครหนอ ก็เห็นรักนั้น ยิ่งใหญ่กว่าจักรวาล      

        ใครหนอ ... จะเขียนเพลงง่ายๆ ได้ตรึงใจหาใดปานได้อย่างนี้...

        ครูชาลี อินทรวิจิตร ก็เขียนถึง เพลงใครหนอ นี้ เอาไว้ใน หกแยกบันเทิง หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน อีกเช่นกันว่า      

        “... หากจะไม่พูดถึง ผลงานอันวิเศษ เหนือความพิเศษใดๆ ในบทเพลงของ สุรพล โทณะวณิก ก็ดูจะปิดกั้น ความอหังการในบางบทเพลงของเขาเกินไป เช่น เพลงใครหนอ รอ จูบ ยามรัก ไม่มีวันที่เราจะพรากจากกัน ฟ้ามิอาจกั้น เก็บรัก พิษรัก ลมรัก อยากลืมกลับจำ คน ฉงน ท่าเตียน แดดออก เห็นแล้วหิว หัวใจขายขาด บาดหัวใจ เท่านี้ก็ซึ้ง...      

        โดยเฉพาะ เพลงใครหนอ เพลงเดียวก็สุดๆ แล้ว ร.ร.ทั่วประเทศ (โรงเรียน นะครับ) ร้องกันทุกๆวันสำคัญ ไม่ว่าวันพ่อ วันแม่ วันเปิดโรงเรียน วันที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับโรงเรียน...”      

        ครูใหญ่ (สมาน นภายน) เขียนเอาไว้ ใน สุรพล (โทณะวณิก) ผู้มีมนต์แห่งความฝัน ว่า “...เพลงที่ น้อย แต่ง กินใจเหลือเกิน พระคุณของแม่นั้น ไม่มีใครสามารถยกบทกลอนขึ้นมาเปรียบเทียบได้ดีเท่ากับ น้อย คือ น้อย มองเห็นความยิ่งใหญ่ ในพระคุณอันเหลือล้นสุดที่จะพรรณนาได้      

        “จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วเอานภามาแทนกระดาษ       

        เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ...      

        แค่ท่อนนี้เท่านั้นเอง ก็ไม่รู้ว่า จะเอาอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ มาทดแทนพระคุณได้ ที่ น้อย แต่ง มีพร้อมมูลทุกอย่าง มีทั้งโลก มีทั้งท้องฟ้า มีทั้งมหาสมุทร แล้วใครล่ะ จะสรรหาอะไรที่มันยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ จริงไหม...”      

        จาก ปริญญานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์ชีวประวัติและเทคนิคการประพันธ์เพลงไทยสากล

       ของ สุรพล โทณะวณิก ของ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ ได้กล่าวถึง เพลงใครหนอ ไว้ว่า      

        “...ด้านการใช้คำร้อง ได้สรรหาคำประพันธ์ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบ ในเรื่องพระคุณของ แม่ ได้ยิ่งใหญ่ ดูเหมือนจะเกินความเป็นจริง แต่ผู้ฟังยังรู้สึกว่าน้อยเกินไป      

        เป็นการใช้ภาษาที่ง่าย บุคคลทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าใจ มีการสัมผัสคล้องจองกัน ทำให้จดจำง่าย ลักษณะการใช้ภาษาก็เป็นภาษาจินตนาการ แต่ผู้ฟังสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน และเป็นความจริง ให้ความรู้สึกอบอุ่น และความผูกพันในครอบครัว      

        ที่สำคัญ คือ คำร้องกับทำนอง สามารถผสมผสานไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้      

        ลักษณะของการใช้คำร้องเช่นนี้ จึงควรนำมายึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี ในการประพันธ์เพลงในทุกยุคทุกสมัย”      

        ในประวัติชีวิตของ ครูสุรพล โทณะวณิก ที่เจ้าตัวเขียนเอาไว้ ใน หนังสือ คอนเสิร์ต บันทึกแผ่นดิน ศิลปินประชาชน สุรพล โทณะวณิก นั้น บอกว่า       

        “...ที่นี่ มีความอบอุ่น มากมาย เมื่ออยู่กับแม่ นอนกับแม่ นั่งดูแม่ทำกับข้าว หรือแม่ถอดกางเกงติดก้น จับอาบน้ำหน้าบ้าน ซึ่งมีตุ่มอยู่สามใบ สำหรับอาบน้ำหนึ่งใบ ถัดมาเป็นตุ่มน้ำกินปิดฝาสนิท ใบเล็กข้างบันไดด้านขวา คือตุ่มสำหรับตักน้ำล้างเท้า      

        แม่อาบน้ำให้เสร็จ ฟอกตัวด้วยสบู่สีเขียว หอมฉุย เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เจอสบู่ รู้สึกชื่นใจมาก      

        อยู่วัด ลูกศิษย์หลวงพ่ออาบให้ แค่เอาน้ำรดๆ แล้วเอาผ้าอาบของหลวงพ่อ ห่ม เช็ดตัวคลุมให้เท่านั้น      

        ไม่เหมือนแม่ พอบอกว่าหนาว แม่ก็เอาผ้าขนหนูนิ่มมาพันรอบตัว อุ้มขึ้นวางบนชาน รอแม่อาบต่อจนเสร็จ แม่ก็อุ้มเข้าห้อง      

        ที่เล่าตรงนี้ค่อนข้างละเอียด เพราะเป็นต้นกำเนิด เพลงใครหนอ เป็นความทรงจำที่ลืมได้ยาก...

 

https://youtu.be/rBbRAhpJjMM



ไม่มีความคิดเห็น: